นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าวมีมติรับรองพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้ชาวนา และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าข้าว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์ กข77 ซึ่งเป็นข้าวเจ้านุ่มรองรับการส่งออกในตลาดอาเซียน และข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์เหลืองใหญ่ 48 นับเป็นข้าวขึ้นน้ำพันธุ์แรกที่ข้าวสุกร่วน ไม่แข็งเหมือนข้าวขึ้นน้ำพันธุ์อื่นๆ โดยข้าวพันธุ์ กข77 เป็นข้าวเจ้านุ่มไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 105-108 วัน (หว่านน้ำตม) 110-115 วัน (ปักดำ) ปรับปรุงพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ไปฉายรังสีแกมมาที่ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2545 และปลูกคัดเลือกสายพันธุ์จนได้ลักษณะมีต้นเตี้ย ลำต้นแข็งแรง ไม่ล้ม เมื่อนำข้าวสารมาหุงสุกมีความเหนียว นุ่ม มีปริมาณอมิโลสต่ำ ร้อยละ 16.34 ไม่มีกลิ่นหอม มีเสถียรภาพการให้ผลผลิตดี ให้ผลผลิตสูงสุดในสภาพแปลงทดลอง 983 กิโลกรัม/ไร่ สามารถปลูกได้ในเขตนาชลประทาน แต่ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ
ทั้งนี้ สถานการณ์พันธุ์ข้าวนุ่มที่มีการรับรองในประเทศไทยยังมีอยู่จำนวนน้อย และสามารถปลูกให้ผลผลิตดีในบางพื้นที่ ผลผลิตต่ำ ทำให้การผลิตข้าวชนิดนี้ภายในประเทศมีความกระจัดกระจาย การควบคุมคุณภาพข้าวทำได้ยาก การรวบรวมผลผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณมากมีต้นทุนสูง ในขณะที่ข้าวเจ้านุ่มกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ข้าว กข77 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวนาที่จะผลิตข้าวนุ่มที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และเพิ่มศักยภาพการส่งออกข้าวไทยในอนาคต สำหรับพันธุ์เหลืองใหญ่ 48 เป็นข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีได้เก็บรวบรวมรวงข้าวพันธุ์เหลืองใหญ่จากแปลงของนางทองปอน เพชรเอี่ยม ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมของเกษตรกรกว่า 30 ปี ใน จ.ปราจีนบุรี นครนายก เนื่องจากมีความทนแล้งในระยะกล้า และยืดปล้องได้ดีในสภาพนาน้ำลึก ปรับปรุงพันธุ์โดยการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ มีลักษณะเด่นเป็นข้าวขึ้นน้ำที่มีอมิโลสปานกลาง ข้าวสุกร่วนไม่แข็งเหมือนข้าวขึ้นน้ำพันธุ์อื่นๆ ปริมาณโปรตีนในข้าวกล้องสูง ร้อยละ 9.27 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 401 กิโลกรัม/ไร่ โดยมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงสุด 560 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถขึ้นน้ำและยืดปล้องได้ดี ปลูกได้ดีในน้ำลึกกว่า 1 เมตร มีน้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป แต่มีข้อควรระวังเนื่องจากข้าวพันธุ์นี้อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้งและโรคใบขีด
“ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในสภาพนาน้ำลึกกว่า 300,000 ไร่ กระจายในพื้นที่ 46 จังหวัด และยังประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เนื่องจากเกษตรกรร้อยละ 98 เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำพื้นเมืองไว้ปลูกเองโดยไม่ค่อยตัดข้าวปนในแปลง ทำให้มีข้าวพันธุ์อื่นและข้าวแดงปนเกินกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้คุณภาพข้าวไม่ได้มาตรฐาน ข้าวที่ขายจึงได้ราคาต่ำกว่าที่เป็นจริง การรับรองข้าวพันธุ์เหลืองใหญ่ 48 นี้ จะช่วยให้ชาวนามีพันธุ์ข้าวที่เป็นทางเลือกในการปลูกข้าวมากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงนิยมบริโภคข้าวพื้นเมือง หรือนำข้าวแปรรูปเป็นอาหารอื่นเพิ่มมูลค่าในตลาดต่อไป” อธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้าย