หลายท่านคงสงสัย ว่าภาพที่เห็นนี้ไม่ใช่กล้วยตากจริงๆ ใช่ไหม แล้วมันคืออะไรกันละ ??? วันนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน
“ตัวกล้วยตาก หรือ ทากเปลือยบก”
(land slug) จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มหอยฝาเดียว แต่ร่างกายมีการลดรูปเปลือกไปจนหมด จนไม่หลงเหลือเปลือกให้เห็นอีกเลย ซึ่งสัตว์ในกลุ่มนี้มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เช่น คนในแถบภาคอีสาน จะเรียกกันว่า แมงลิ้นหมา หรือตัวลิ้นหมา คนภาคเหนือ เรียกว่า ขี้ตืกฟ้า คนภาคใต้ เรียกว่า ทากฟ้า คนภาคกลางเรียกว่า ตัวกล้วยตาก หรือทากดิน มักจะพบเห็นได้ในพื้นที่ ที่มีใบไม้ไม่ผุพัง ใต้ขอนไม้ หรือบริเวณที่มีวัตถุปกคลุมผิวดิน ทั้งในแหล่งธรรมชาติและแหล่งที่ถูกรบกวนโดยมนุษย์
วันที่ 22 กันยายน หน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติกส์ของสัตว์
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Animal Systematics Research Unit, CU)
เผยแพร่รายละเอียดการค้นพบ “ตัวกล้วยตาก” สายพันธุ์ใหม่ของโลกทั้งหมด 2 ชนิดในประเทศไทย ประกอบด้วย
Valiguna semicerina (Mitchueachart & Panha, 2024) "ตัวกล้วยตากหลังเกลี้ยง" พบได้ที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย และยังพบได้ในประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์
Valiguna crispa (Mitchueachart & Panha, 2024) "ตัวกล้วยตากถ้ำขมิ้น" : พบได้แค่ที่ถ้ำขมิ้น จ.สุราษฎร์ธานี.
คณะนักวิจัยนำโดย นางสาวบวรลักษณ์ มิตรเชื้อชาติ นิสิตระดับปริญญาเอกภายใต้การดูแลของ
ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา หน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้ศึกษาตัวกล้วยตากในสกุล 𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 ทั้งหมดในประเทศไทย โดยปัจจุบันได้รายงานทั้งหมด 3 ชนิด มีชนิด 𝑉𝑎𝑙𝑖𝑔𝑢𝑛𝑎 𝑠𝑖𝑎𝑚𝑒𝑛𝑠𝑖𝑠 (Martens, 1867) หรือตัวกล้วยตากสยาม มีการกระจายทั่วประเทศไทย รวมถึงในประเทศเมียนมาร์และลาว นอกจากนี้เนื่องจากหน้าตาภายนอกของตัวกล้วยตากมีความคล้ายคลึงกันมาก จึงต้องอาศัยข้อมูลอวัยวะภายในและแผนภูมิต้นไม้เชิงวิวัฒนาการจากข้อมูลดีเอ็นเอในการแยกชนิด
เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับข้อมูลข่าวสาร และความรู้ที่เรานำมาให้ หวังว่าคงจะได้คุณประโยชน์ เพิ่มความรู้ให้แก่แฟนเพจทุกท่าน สามารถติดตามเพจเพื่อรับข้อมูลข่าวสารดีๆ มีสาระกันได้นะครับ เราสัญญาว่าจะอัพเดทข่าวสารใหม่ๆ ให้ตลอด